วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2557

พระธาตุพนม,พระธาตุศรีโคตรบอง

ที่มาน่าสนใจลอกมาจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=721889
วันที่ ศุกร์ มิถุนายน 2554
พิมพ์หน้านี้  |  ดูบล๊อกอื่นๆ ที่ OKnation

นครพนม 1,300 ปี ....”ทวารวดี” ที่ศรีโคตรบูร


        ช่วงไม่นานนี้ ผมได้เดินทางไปยังจังหวัดนครพนมอยู่บ่อยครั้ง ทั้งมาร่วมงานด้านวัฒนธรรมที่ “เรณูนคร” งานรื่นรมย์บุญปีใหม่ไทย – ลาว ที่แขวงคำม่วน งานกิจกรรมด้านกีฬาในการแข่งขันกีฬาสัมพันธ์ระหว่างประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 7 ที่จังหวัดนครพนมเป็นเจ้าภาพ และในอาทิตย์หน้า ผมก็มีโอกาสได้ติดตามคณะกรรมการวิสามัญ ศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาภาคตะวันออกเฉียงเหนือแบบบูรณาการ วุฒิสภา ไปดูงานพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม รวมไปถึงงานด้านการพัฒนาวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวที่จังหวัดนครพนมอีกครั้งหนึ่งครับ
.
        ทุกครั้งที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ที่จังหวัดนครพนมและจังหวัดใกล้เคียง ผมก็ยังคงสังเกตและมองหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีและมานุษยวิทยา ประเภทนอกกรอบ – วิชากวน เพื่อมาเขียนเป็นเรื่องราวที่ไม่น่าเชื่อ แต่ก็เป็นอีกมุมหนึ่ง ที่อยากนำเสนอให้กับผู้ที่สนใจและมี “จินตนาการ” ลองมารับฟัง”หลักฐาน” ที่ "แตกต่าง” ไปจากที่เคยรับรู้ ใน Blog ข่าว OKNation แห่งนี้อยู่เสมอ
.
         เมื่อเราพูดถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ โบราณคดีของจังหวัดนครพนม หลายคนที่เคยศึกษาก็จะต้องนึกถึงเรื่องราวคำอธิบายประวัติศาสตร์ที่มาจาก “ตำนาน” ผ่านทาง “ตำนานอุรังคธาตุ” ที่อธิบายถึงกำเนิดของ”พระธาตุพนม” พระธาตุคู่บ้านคู่เมือง
.
        อีกทั้ง “ตำนานพระธาตุพนม” ที่กล่าวถึงอมรฤาษีและโยธิกฤาษี ไปเอาอุโมงศิลาบนยอดเขาภูเพ็กมาตั้งไว้ชั้นบนของพระธาตุพนม เรื่องราวการสร้างพระธาตุพนมที่ "ภูกำพร้า" เรื่องราวของแคว้นศรีโคตรบูรที่ว่า “ในราว พ.ศ.8 ดินแดน ศรีโคตรบูร ตั้งเมืองหลวงอยู่ใต้ปากเซบ้องไฟ อยู่เหนือสุวรรณเขตประเทศลาว ครั้นต่อมาได้ย้ายเมืองหลวงมาตั้งอยู่เหนือธาตุพนม ในดงไม้รวกจึงมีนามว่า" มรุกขนคร" มีกษัตริย์ครองเมือง ๕ องค์ องค์สุดท้ายชื่อ พระยานิรุฏฐราช บ้านเมืองเลยเกิดวิบัติล่มร้างเป็นบึงและป่า”
.
          และ “ตำนาน” ที่อธิบายเรื่องราวของพระยาโคตรบอง (โคตรบูร)จาก ตำนานพระยาศรีโคตร และ ”พงศาวดารเหนือ” ที่กล่าวถึงผู้มีบุญทรงฤทธานุภาพฆ่าไม่ตาย มีพละกำลังสามารถลากท่อนซุงขนาดใหญ่มาทำกระบอง เพื่อปราบช้างป่านับล้านตัว ให้กับ อาณาจักรเวียงจันทน์ จนเป็นที่มาของ อาณาจักรล้านช้าง
.
.
         “ประวัติศาสตร์ผสม” จากตำนานคำบอกล่าหรือนิทานทั้งหลายนี้ ได้กลายมาเป็นคำอธิบายประวัติศาสตร์โบราณคดี เรียบเรียงและนำมาใช้กันอยู่ในปัจจุบันอย่างต่อเนื่องครับ
.
        แต่ในมุมของผม มันคนละอย่างกัน !!!
.
         ถ้าอยากอ่านเรื่องราว ประวัติศาสตร์เชิงตำนานของเมืองนครพนม มรุกขนครหรือศรีโคตรบูร ก็สามารถหาอ่านได้จากเวปไซต์หลายแห่ง ผมคงไม่ต้องไป “คัดลอก” มาให้อ่านกันนะครับ หุหุ
.
        แต่ในอีกส่วนมุมมองของผม ผมได้ไปพบกับหลักฐานทางโบราณคดีเก่าแก่ ที่วางระเกะระกะหรือถูกนำมาใช้อ้างใหม่ตามตำนาน เพื่อให้สอดรับกันเท่านั้น
.
        เมื่อไปพบเห็น ก็ต้องนำมาเล่าสู่กันฟังสิครับ !!!
.
         ในคราวข้ามไปทำบุญตามกิจกรรม รื่นรมย์ปีใหม่ ไทย – ลาว ณ วัดศรีโคตรบอง เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ประเทศลาว ที่จัดขึ้นโดยวัฒนธรรมจังหวัดนครพนมเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา “พระเจดีย์ประธานของวัด มีลักษณะผสมผสานทางศิลปะ เป็นเจดีย์ที่น่าจะมีอายุไม่มากนัก” นี่คือความคิดแรกที่ออกมาระหว่างการเวียนทักษิณาวัตร
.
.
         แต่เมื่อผมเดินขึ้นไปบนลานประทักษิณของ “องค์พระธาตุศรีโคตรบอง” ก็พบว่า มี “ก้อนหิน” ในรูปแบบวัฒนธรรม “หินตั้ง” ซึ่งอาจกลายมาเป็นคติ “ใบเสมา” แล้ว ถูกทาสีขาวปักไว้มุมด้านหนึ่งของพระเจดีย์ประธาน
.
.
        ตรงด้านหน้าทิศตะวันออกของพระเธาตุ มี “นาคปัก” ที่เป็นเครื่องบนของปราสาทหินแบบเขมรอยู่ 2 ชิ้น ประมาณณอายุอยู่ในราวศิลปะแบบเกลียง – บาปวน พุทธศตวรรษที่ 15 – 16 และใบเสมาหินทรายขนาดใหญ่ที่มีจารึกอักษรไทยน้อย (ลาว) กล่าวถึงการสร้างพระธาตุศรีโคตรบอง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-22
.
.
        ที่ตกใจก็คือ ผมได้มาพบกับหลักฐานทางโบราณคดี ของวัฒนธรรมแบบทวารวดีและวัฒนธรรมแบบเขมร พร้อมกันที่วัดพระธาตุศรีโคตรบอง ครับ
.
        “เออน่า มันคงถูกย้ายมาจากที่อื่นในยุคหลัง” ผมพูดกับตัวเอง
.
        แต่ความสงสัยใคร่รู้ มันทำให้ผมลุกออกจากศาลาที่เขากำลังประกอบพิธีการกันอยู่ เดินออกไปด้านนอกทางด้านหน้าวัด ทิศตะวันออก ที่เป็นลานโล่งกว้างขนาดใหญ่
.
        “ให้ตายเถิด” ผมได้ไปพบกับสถูปโบราณในศิลปะแบบล้านนา – ล้านช้าง อายุในพุทธศตวรรษที่ 21 – 22 ร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยา ในสภาพพังทลายเป็นกองอิฐขนาดใหญ่อีกองค์หนึ่ง
.
.
        “ แล้วจะมีอะไรอีกไหม” ผมเดินตระเวนสำรวจไปทั่ววัดศรีโคตรบอง แล้วมันก็มีจริง ๆ
.
        ผมพบฐานอิฐของอาคารโบราณ 2 – 3 แห่ง พบฐานอิฐของสถูป ? ขนาดไม่ใหญ่นัก อีก 1 – 2 แห่ง
.
        ก่อนจะมาเป็นวัดศรีโคตรบอง ที่นี่คงมีศาสนสถานมาแล้วในยุคก่อนหน้า และก่อนหน้ามาขนาดไหนล่ะ ? ผมถามกับตัวเอง
.
        คำตอบก็อยู่กับตรงหน้า “หินตั้ง” ที่ตั้งอยู่ค้ำขอบฐานอาคารอิฐชิ้นใหญ่ชิ้นหนึ่งกับชิ้นเล็กอีกสองสามชิ้น ทำขึ้นจากหินตระกูลหินทรายสีออกแดง รูปทรงด้านบนเป็นใบเสมาและสันกลางที่คล้ายรูปทรงสถูป โผล่ขึ้นมาจากดิน
.
.
        ผมพบ ใบเสมาทวารวดี (แบบอีสาน) ที่ฝั่งลาวและพบรูปสลักหินทรายในศิลปะแบบเขมร ที่วัดศรีโคตรบอง !!! 
.
.
.
        .......ย้อนกลับมาที่นครพนม
.
        วันหนึ่งผมมีโอกาสได้แวะเข้าไปไหว้พระที่วัดโอกาส (ศรีบัวบาน) ที่ตั้งอยู่ข้างตลาดอินโดจีน เพื่อเข้าไปนมัสการพระติ้ว พระเทียม พระคู่เมืองนครพนม เมื่อเข้าไปภายในวัดก็ไปพบกับ “ใบเสมา” แบบทวารวดี (อีสาน) รูปแบบเดียวกันกับที่พบที่วัดศรีโคตรบอง
.
.
        รูปแบบของใบเสมา ตกแต่งด้วยรูปสถูปหรือหม้อปูรณฆฏะอันเป็นเครื่องหมายของความอุดมสมบูรณ์ ฐานเป็นลายกลีบบัว สภาพแตกหัก เหมือนถูกทำลายโดย “จงใจ”
.
.
        ส่วนที่เหลือ ถูกนำมาเรียงล้อมรอบโบสถ์ของวัด ตามคติใบเสมาล้อมพัทธสีมาแห่งสงฆ์
.
.
        เมื่อดูจากสภาพแวดล้อมของพื้นที่วัดโอกาสและใกล้เคียง พื้นที่นี้เมื่อ 1,300 – 1,400 ปีที่แล้ว ต้องเคยเป็น “มณฑลหรือเขตแดนศักดิ์สิทธิ์” ที่จะถูกล้อมรอบด้วย “หินตั้ง” ในรูปแบบของใบเสมาตามคติ “เถรวาท” ทวารวดีแบบอีสาน
.
.
        แบบเดียวกับเนินดินของวัดศรีโคตรบอง ที่มีร่องรอยของหลักฐานหินตั้งแบบเดียวกัน !!!
.
        นอกจากจะพบหินตั้งในรูปแบบ “ใบเสมา” ล้อมรอบเนินดินเพื่อกำหนดเขตมณฑลศักดิ์สิทธิ์ที่วัดโอกาส กลางเมืองนครพนมแล้ว ยังพบในเสมาในรูปแบบ ศิลปะและวัสดุที่ใช้สร้างแบบเดียวกันที่ บ้านทู้ อำเภอธาตุพนม บ้านโปร่ง(กลุ่มหินตั้งจะอยู่ระหว่าง3 หมู่บ้าน คือ บ้านโปร่ง บ้านอุ่มเหม้า บ้านข้าวหลาม)ตำบลน้ำกำ อำเภอธาตุพนม และในอีกพื้นที่หลายแห่งในเขตอำเภอเมืองอีกด้วยครับ
.
        และรูปแบบวัฒนธรรม “หินตั้ง” ตามคติแบบทวารวดีนี้ ยังไปพบที่วัดพระธาตุพนมอีกด้วยครับ
.
        หลายท่านที่ไปนมัสการพระธาตุพพนม ก็อาจมองไม่เห็นหรือมองเห็นไปตามคำอธิบายที่มาจากตำนานอุรังคธาตุหรือตำนานพระธาตุพนม
.
.
        หินตั้งของวัดพระธาตุพนม มีอายุที่หลากหลายกว่าที่พบที่วัดโอกาสและวัดพระธาตุศรีโคตรบอง ที่เก่าสุดเห็นจะเป็น กลุ่ม “หินตั้ง” ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในราวพุทธศตวรรษที่ 8 – 9 รูปแบบหินจะยังไม่มีการตกแต่งแกะสลักให้เป็นลวดลาย นิยมใช้หินตระกูลหินตะกอน (sedimentary rock) ประเภท หินทรายเม็ดใหญ่ (Millet-seed Sandstone) ก้อนขนาดใหญ่ มาวางเรียงไว้รอบมณฑลศักดิ์สิทธิ์ หรือที่อาจเรียงว่า “ภูกำพร้า” ในตำนาน เนินดินขนาดใหญ่ริมแม่น้ำโขง
.
.
        ต่อมารูปแบบของหินตั้ง เริ่มมีการ ”เปลี่ยนแปลง” มาใช้เป็น "ใบเสมา" ตามคติเถรวาท ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 รูปแบบใบเสมา จะทำเป็นแท่งหินที่มีการกำหนดมุม 4 เหลี่ยมบ้าง 8 เหลี่ยมบ้างหรือ ดัดแปลงแค่ลบปรับเหลี่ยม เป็นแท่งสูง ฐานทำเป็นลายกลีบบัว ลายลูกปะคำ
.
.
         หินตั้งในยุคก่อนประวัติศาสตร์หลายก้อน ก็ถูกดัดแปลงรูปทรงให้ใกล้เคียงกับรูปแบบใบเสมา สลักรูปสถูปเจดีย์บนหม้อปูรณฆฏะ เสมาหินแบบนี้พบตั้งอยู่มุมหลังวิหารด้านทิศเหนือหน้าองค์พระธาตุพนม
.
.
.
        จากการศึกษาภายหลังจากที่องค์พระธาตุพนมล้มลงในปี 2518 พบหลักฐานศิวลึงค์ ฐานโยนี ท่อรางโสมสูตร และร่องรอยฐานขององค์พระธาตุพนมที่เป็นอาคารปราสาทอิฐแบบวัฒนธรรมเขมร       
.
       สรุปได้ว่า ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 หรือประมาณ 1,300 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่มีการวางใบเสมาหินทรายล้อมรอบมณฑลศักดิ์สิทธิ์ กลุ่มชนใหม่ผู้มี "อำนาจ" จากทิศใต้ ได้เข้ามาสร้างอาคารปราสาทอิฐขนาดใหญ่ในศิลปะแบบอินเดีย ที่เรียกกันตามศิลปะแบบเขมรว่า ศิลปะแบบสมโปร์ไพรกุก (Sombor Prei Kuk) ศิลปะแบบไพรกเมง (Prei Khmeng) หรืออาจอยู่ในช่วงสมัยกำพงพระ (Kampong Phra)
.
        ในช่วงพุทศตวรรษที่ 13 - 14 ต่อมา บริเวณรอบพื้นที่เนินภูกำพร้า มีการบูรณะปราสาทอิฐแบบเขมรโดยช่างฝีมือจากอาณาจักรจามปา (ดงเดือง -หมี่เซิน) ก่อองค์ปราสาทให้สูงใหญ่ขึ้นตามคติผสมระหว่างฮินดูและพุทธศาสนา ในช่วงนี้จึงน่าจะมีการนำเสาหินรูปทรงแปดเหลี่ยมที่สลักขึ้นจากหินทรายสีเขียวขนาดใหญ่ ที่เรียกกันตาม “ตำนานพระธาตุพนม” ว่า “เสาอินทขีล” (เสาหลักเมือง) มาปักอยู่ 4 มุม ของอาคารศาสนสถานกลางมณฑลศักดิ์สิทธิ์ที่บูรณะขึ้นใหม่
.
.
        ตามตำนานพระธาตุพนมกล่าวว่า “เสาอินทขีล” นั้น พญาทั้งห้าผู้สร้างพระธาตุพนมในยุคแรก ได้ให้คนไปขนมาจากที่ต่าง ๆ รวมกันสี่ต้น แล้วฝังไว้ในบริเวณรอบ ๆ องค์พระธาตุทั้งสี่มุม คือ ต้นที่หนึ่งนำมาจากเมืองกุสินารา ฝังไว้ที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และสร้างรูปอัจจมุขีไว้ที่โคนเสาหนึ่งตัว ต้นที่สองนำมาจากเมืองพาราณสี ฝังไว้ที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ และสร้างรูปอัจจมุขีไว้ที่โคนเสาหนึ่งตัว ต้นที่สามนำมาจากเมืองลังกาฝังไว้ที่มุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ต้นที่สี่นำมาจากเมืองตักกศิลาฝังไว้ที่มุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เสาอินทขีลทั้งสี่ต้นนี้อาจใช้เป็นเสาปักเขตแดนของศาสนสถานคล้ายใบเสมา
.
.
.
.
.
        "ประติมากรรมรูปสิงห์หรืออัจจมุขี" พบที่วัดพระธาตุพนม ตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวไว้ว่า ได้มีการสร้างรูปอัจจมุขีขึ้นไว้สองตัว อยู่ที่มุมทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือหนึ่งตัว และฝังไว้ที่มุมทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้อีกหนึ่งตัว
.
.
.
        ในความเห็นของผม รูปสิงห์หรืออัจจมุขีนี้น่าจะถูกสร้างขึ้นในช่วงหลังการสร้างปราสาทอิฐ เพื่อใช้เป็นรูปสิงโตหมอบเฝ้าทางเข้า (ทวารบาล) ที่จะมีเพียงทางเดียว มีลักษณะของอิทธิพลศิลปะอินเดียที่ผ่านมาจากศิลปะจาม - ชวา อีกทีหนึ่ง ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการบูรณะปราสาทอิฐในยุคแรก ที่มีการแกะสลักอิฐรอบองค์ธาตุเป็นภาพบุคคลขี่ช้าง ขี่ม้า ยักษ์ สัตว์ป่า รูปเทพเจ้าประจำทิศ ฯลฯ (ราวพุทธศตวรรษที่ 14 ) โดยนำหินทรายที่ใช้เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างอาคารอิฐที่ถูกรื้อถอนออกมาจากยุคแรกเป็นวัสดุหลัก  
.
.
ใบเสมาหินทรายตรงกลางสลักเป็นสถูปเจดีย์ที่พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุพนม
รูปแบบเดียวกับที่พบที่วัดศรีโคตรบอง
.
        ในขณะที่ "ตำนานอุรังคธาตุ" ก็ถูกสร้างขึ้นใหม่โดยปราชญ์ชาวล้านช้าง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 - 21 เพื่ออธิบายเรื่องราวในยุคก่อนหน้าของการเข้ามาครอบครองแผ่นดินใหม่ แผ่นดินที่เคยมีผู้คนอาศัยแต่ได้ทิ้งร้างสาบสูญไปแล้ว
.
        กลุ่มชนในวัฒนธรรมล้านช้าง ได้เข้ามาครอบครองพื้นที่ที่เคยมีศาสนสถานของวัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมแบบเขมร ที่ซ้อนทับกันอยู่ในในชื่อของ “ศรีโคตรบูร” และน้อมรับที่จะเป็นศรีโคตรบูรณ์สืบทอดต่อมา
.
.
ลวดลายแกะสลักหินทรายบนชิ้นส่วนยอดบนสุดของใบเสมายุคล้านช้างที่แตกหัก
ด้านหลังเป็นชิ้นส่วนของ "หินตั้ง" ?
.
        "พระธาตุพนม" จึงถูกสร้างขึ้นใหม่ในยุค อาณาจักรเวียงจันทน์ - ล้านช้าง โดยดัดแปลงปราสาทอิฐแบบเก่าของอินเดีย – จาม – เขมร เติมยอดแบบโกศ (บรรจุกระดูก) แบบลาวเหนือเรือนธาตุขึ้นไปกลายเป็นสถูปเจดีย์แทนปราสาท
.
        ชาวล้านช้าง ได้อาศัย “ตำนาน” ที่แต่งขึ้น เพื่อครอบครอง “มรุกขนคร” อย่างสมบูรณ์ และสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นมากมาย ดังที่เราพบเห็นโบราณสถานร้างในยุค “ล้านช้าง” ราวพุทธศตวรรรษ ที่ 19 - 22 ในพื้นที่อำเภอเมืองมากกว่า 20 แห่ง
.
        “หินตั้ง” ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ กลายมาเป็น “ใบเสมา” ในยุควัฒนธรรมทวารวดีแบบอีสาน และบางส่วนก็ถูกนำมาขัดผิวหน้าให้เรียบ พร้อมเขียนจารึกในยุค “ล้านช้าง” อธิบายเรื่องราวความเป็นมาของบ้านเมือง ตั้งแต่ครั้งแคว้น “ศรีโคตรบูร” ให้สืบเนื่องต่อกันมาอย่างแนบแนียน
.
.
นาคปักแบบปราสาท "บาปวน" ในพิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุพนม
     
 ........เราแยกแยะความจริงและเหตุผลออกจากประวัติศาสตร์ ก็เพียงเพราะมันอาจจะมีคุณค่าต่อสังคมมนุษย์มากกว่าเป็นเพียงเรื่องราวตาม “ความเชื่อ” ที่ถูกสร้างขึ้นในแต่ละยุคสมัย ....
.
.
.
.

วรณัย พงศาชลากร
17 มิถุนายน 2554

.


โดย ศุภศรุต

.
.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น