สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทย ถ้า พล.อ.ประยุทธ์และบุคคลชั้นแนวหน้า ระดับมันสมองของประเทศ ที่อาสาเข้ามาช่วยในนาม “ซุปเปอร์บอร์ด” หรือคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) สามารถทำได้สำเร็จ นั่นคือ “การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ”
กระบวนการที่พวกเขากำลังจะปรับเปลี่ยนรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีขนาดทรัพย์สินพอๆ กับขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เคยมีความพยายามผลักดันในช่วงการเมืองปกติ แต่ถูกนักการเมืองตีตกไป
ในครั้งนี้ พวกเขากำลังสร้าง “บรรษัท วิสาหกิจแห่งชาติ” ที่จะมาดูแลโครงสร้าง การบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ 12 แห่ง
สิ่งสำคัญมากที่สุด คือ การหาแนวร่วมและทำความเข้าใจกับสาธารณชน ตัวแทนของ “ซุปเปอร์บอร์ด” 4 คน ได้แก่ นายบรรยง พงษ์พานิช นายวิรไท สันติประภพ นายรพี สุจริตกุล และ นายกุลิศ สมบัติศิริ จึงมาเยี่ยมเยียนถึงสำนักงาน “หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ”
เพื่อชี้ชวนให้เห็นว่า สิ่งที่พวกเขากำลังทำ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ของประเทศ จะให้คุณประโยชน์มากเพียงใดต่อประเทศชาติของเรา
บรรยง พงษ์พานิช
“สิ่งที่คิดว่าจะมีการปฏิรูปและเป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่ เนื่องจากจะมีการเปลี่ยนภูมิทัศน์ของรัฐวิสาหกิจในอนาคต รวมทั้งอาจจะมีผลไปถึงภูมิทัศน์ทางการเมืองบางประการ”
ทำไมถึงต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากใน 10 ปีที่ผ่านมา รัฐวิสาหกิจไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจจาก 4.7 ล้านล้านบาท ใน 10 ปีก่อน หรือปี 2546 ขยายขึ้นมาเป็น 11.8 ล้านล้านบาท ในปี 2556 ขยายตัวในอัตราที่มากกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากมาย
โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีทรัพย์สินขยายตัวจาก 1 ล้านล้านบาท มาเป็น 4.5 ล้านล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยเอาทรัพยากรทางเศรษฐกิจเข้ามาอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐและนักการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆใน 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง ค่อนข้างจะสวนกระแสของโลก ที่จะให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ
ขณะที่ในด้านของรายได้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว รัฐวิสาหกิจมีรายได้อยู่ 1.5 ล้านล้านบาทในปี 2546 แต่พอมาปี 2556 รายได้เพิ่มมาเป็น 5.1 ล้านล้านบาท หรือ 40% ของจีดีพี จากเดิมที่อยู่ที่ระดับ 20% ของจีดีพี ขณะที่งบลงทุนภาครัฐ ปีละ 600,000-700,000 ล้านบาท ครึ่งหนึ่งจะอยู่ในรัฐวิสาหกิจ ยิ่งมองไปข้างหน้าโครงการใหญ่ๆทั้งหลายจะอยู่ในรัฐวิสาหกิจมากขึ้น
แต่เมื่อดูเรื่องของประสิทธิภาพผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ปกติจะได้ยินว่ารัฐวิสาหกิจกำไรรวมกันปีละ 300,000 ล้านบาท ฟังดูเยอะแต่ถ้าเทียบว่าจากทรัพย์สิน 11.8 ล้านล้านบาท ถือเป็นผลตอบแทนต่อทรัพย์สินหรือ return on asset (ROA) ที่ต่ำมาก
เมื่อดูในรายละเอียด ก็พบว่ารัฐวิสาหกิจที่ได้กำไร ก็เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะผูกขาดอยู่ เช่น การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ขณะที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็มีส่วนของการผูกขาดเรื่องการซื้อก๊าซแต่เพียงผู้เดียว และมีรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดโดยธรรมชาติ เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. การท่าเรือแห่งประเทศไทย พวกนี้ก็จะมีกำไร
แต่รัฐวิสาหกิจที่แข่งขันกับเอกชน เช่น ด้านโทรคมนาคม คือ ทีโอที แคท หรือด้านคมนาคม ได้แก่ การบินไทย รถไฟ กลับขาดทุน มีตัวอย่างรัฐวิสาหกิจที่ดูว่ามี ROA สูงที่สุด คือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. แต่สาเหตุมาจากต้นทุนทรัพย์สินค่อนข้างต่ำ เพราะว่ากรมธนารักษ์เวนคืนที่ดินมาตั้งแต่ 40 ปีแล้ว ขณะที่ทรัพย์สินของท่าอากาศยานอื่นๆต้องถมทะเล ต้นทุนจึงสูงมาก
แต่รายได้จากร้านค้าปลอดภาษี ปกติสนามบินหลักจะมีรายได้ ส่วนนี้ 25% ของรายได้ทั้งหมด แต่ของ ทอท.มี 15% ของรายได้ และเมื่อดูด้านคุณภาพ สนามบินสุวรรณภูมิ ตอนเปิดอยู่อันดับ 17 ของโลก แต่ตอนนี้อยู่อันดับที่ 47 คือสวนทางกัน
สำหรับรัฐวิสาหกิจที่แข่งขันกับเอกชนทางด้านโทรคมนาคม อย่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีพนักงาน 22,000 คน ขณะที่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส มีพนักงาน 9,600 คน แต่เอไอเอส มีรายได้ 5 เท่าของทีโอที เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ในอุตสาหกรรมเดียวกัน และตลอด 5 ปีที่ผ่านมาทีโอทีลงทุน 40,000 กว่าล้านบาท แต่ไม่มีรายได้เพิ่ม
การลงทุนที่สะท้อนที่สุด คือการได้ลงทุนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จี ก่อนคนอื่น 2 ปี ไม่ต้องเสียค่าต๋งค่าคลื่น ไม่ต้องไปประมูลมา ลงทุนไป 20,000 ล้านบาท แต่วันนี้ เอกชนที่ต้องเสียเงินประมูลคลื่นมาให้บริการ มีลูกค้ารวมกัน 85 ล้านเลขหมาย ทีโอทีมีอยู่ 400,000 เลขหมาย สะท้อนให้เห็นการทำงานไม่อยู่ในสภาพแข่งขันได้ ฉะนั้นที่จะขอเก็บคลื่น 900 MHz ไว้ก่อน เพื่อทำ 4 จีอีก ก็เป็นเรื่องที่ยากจะอนุมัติได้
พอมาวิเคราะห์สาเหตุสำคัญ ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องของแต่ละองค์กร หรือเป็นปัญหาเรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการ ต้องสรุปว่า ที่รัฐวิสาหกิจ 56 แห่งไม่มีประสิทธิภาพและรั่วไหลเยอะมาก เกิดมาจากปัญหาในเชิงโครงสร้าง คือ ถูกแทรกแซงโดยมิชอบจากทางการเมือง เพราะถ้าเป็นรัฐบาลแถลงนโยบายชนะเลือกตั้งมา มีสิทธิ์จะแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และมีการแทรกแซงโดยไม่ชอบเช่น การตั้งผู้บริหาร การตั้งคณะกรรมการ การจัดซื้อจัดจ้าง
รัฐวิสาหกิจปัจจุบันมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายและมีเป้าหมายที่สับสน เช่น เป้าหมายให้ทำกำไร แต่อีกเป้าหมายหนึ่งก็ให้บริการประชาชนให้ทั่วถึง ถึงแม้จะไม่มีกำไร อีกทั้งมีบทบาทที่ขัดแย้งกัน คือบทบาทในการกำหนดนโยบาย บทบาทในการกำกับดูแลและบทบาทในการดำเนินการ ทับซ้อนและอยู่ภายใต้กระทรวง ทำให้ไม่สามารถแยกแยะได้
ฉะนั้น ปรับโครงสร้างที่ทำครั้งนี้ จะตอบโจทย์ที่จะให้การบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานสากล ในความเห็นของพวกเรา การที่ประเทศไทยติดกับดักการพัฒนา ตรงนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุใหญ่ เพราะเรานำทรัพยากรจำนวนมหาศาลไปอยู่ในที่ที่บริหารอย่างไม่มีประสิทธิภาพและรั่วไหล
กิจการของรัฐวิสาหกิจนอกจากใหญ่แล้ว สินค้าและบริการยังเป็นความจำเป็นของประชาชน และเป็นพื้นฐานสำคัญที่กิจการอื่นจะต้องมาใช้ ถ้าตรงนี้ไม่มีประสิทธิภาพ ก็ทำให้ประเทศโดยรวมมีประสิทธิภาพได้ยาก
วิรไท สันติประภพ
“ถ้ามองว่าอะไรจะเป็นกลไกสำคัญ ที่จะยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้ ให้พ้นกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง รัฐวิสาหกิจจะเป็นหัวใจสำคัญ เพราะว่าสินทรัพย์ที่เป็นสินทรัพย์ ยุทธศาสตร์ของประเทศตอนนี้อยู่ในมือของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด”
ประการต่อมา รัฐวิสาหกิจเป็นผู้เล่นรายสำคัญในหลายตลาด ถ้าเรามีผู้เล่นรายใหญ่ที่มีบทบาทในบางตลาดและเป็นผู้กำกับดูแลด้วย ก็จะทำให้ผู้เล่นเก่งๆในภาคเอกชนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะถ้าพี่ใหญ่ในตลาดมีอำนาจเหนือตลาด แต่ไม่มีประสิทธิภาพ โอกาสที่จะดึงให้คนเก่งๆเกิดในตลาดก็ยาก
ที่น่าสนใจคืองบประมาณของรัฐวิสาหกิจแต่ละปี ประมาณเท่าตัวของงบประมาณของรัฐบาลกลาง จึงมีความสำคัญสูงมาก หากไม่จัดการ รัฐวิสาหกิจก็จะวนอยู่ในกับดักแบบนี้
องค์ประกอบของคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องในรัฐวิสาหกิจที่ทั่วโลกมีแต่เราไม่มีคือ คนที่ทำหน้าที่องค์กรเจ้าของรัฐวิสาหกิจ แทนประชาชน
ในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทั่วโลก ไม่ว่าจะขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) และธนาคารโลก ออกมาในทิศทางเดียวกันว่า การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ จะต้องมีองค์กรทำหน้าที่เป็นเจ้าของ เหมือนที่มีผู้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนแทนประชาชน
ถ้าดูพัฒนาการขององค์กรเจ้าของ เริ่มต้นคล้ายๆกันในทุกประเทศ ตั้งแต่รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นมาแล้วแปะไว้ตามกระทรวงต่างๆ เช่น รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับพลังงาน ก็ให้กระทรวงพลังงานเป็นเจ้าของ เรื่องที่เกี่ยวกับการขนส่งก็ไปอยู่กระทรวงคมนาคม ซึ่งจะเกิดปัญหาการทับซ้อนกันว่ากระทรวงคมนาคมก็เป็นคนวางนโยบายเอง เป็นคนกำกับดูแลเองและเป็นเจ้าของเองด้วย
“หลายครั้งก็ไปนั่งเป็นบอร์ดอยู่ในรัฐวิสาหกิจ ทำให้การแบ่งแยกหน้าที่ไม่ชัดเจน เกิดปัญหาก็ชี้นิ้วไม่ได้อันนี้เป็นนโยบายผิดพลาด หรือบริหารผิดพลาด หรือกำกับดูแลไม่ดี และหลายครั้งในการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย นักการเมืองจะมีอิทธิพลสูงมาก”
เมื่อมีหลายประเทศที่ตระหนักถึงปัญหาเหล่านั้น ก็จะมีหน่วยงานขึ้นมาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ซึ่งประเทศไทยอยู่ในขั้นที่ 2 คือ มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพยายามวางมาตรฐานให้อยู่ในกรอบเดียวกัน แต่ยังไม่มีอำนาจเหมือนรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงและไม่มีอาวุธในมือที่จะไปทำอะไรได้
สำหรับองค์กรเจ้าของแบบรวมศูนย์ ทำหน้าที่เรียกว่าแทบจะแทนรัฐบาล เป็นเจ้าของอย่างจริงจัง ถ้าจะให้ประสบความสำเร็จ จะต้องเป็นองค์กรเจ้าของที่มีความเป็นอิสระจากการเมืองในระดับหนึ่งและต้องมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
ที่คาดหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน คือลดความซับซ้อนของบทบาท ให้คนทำหน้าที่เป็นเจ้าของอย่างจริงจัง เช่น เป็นผู้กำหนดนโยบาย เป็นผู้กำกับดูแล การแทรกแซงทางการเมืองก็จะทำได้ยากขึ้น กรอบกฎเกณฑ์ กติกา ไม่ให้องค์กรเจ้าของถูกใช้ทางการเมือง
จุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาในกรอบใหม่ กระทรวงเจ้าสังกัดยังเป็นผู้ให้นโยบาย เพราะอย่างไรรัฐวิสาหกิจจะยังต้องเป็นเครื่องมือและเป็นกลไกในการทำงานของรัฐบาล แม้ว่าเราจะต้องการให้เป็นอิสระปลอดจากการแทรกแซงจากการเมือง แต่รัฐบาลต้องมีอำนาจในการวางนโยบายกำกับรัฐวิสาหกิจได้
ขณะที่การกำหนดนโยบายต่างๆจะต้องมีการคำนวณต้นทุนที่ชัดเจน มีหลักการเรื่องการจัดทำบัญชีการให้เงินอุดหนุนสาธารณะ (PSO) และบัญชีการดำเนินตามนโยบายรัฐ (PSA) ที่ชัดเจน ซึ่งจะแตกต่างจากที่ผ่านมา เวลาที่รัฐบาลหนึ่งทำ เปลี่ยนอีกรัฐบาลใหม่มา ก็บอกว่าเป็นภาระที่เกิดจากรัฐบาลเก่า กลายเป็นพอกหางหมู มาล้างหนี้ทีละเป็นแสนล้าน
สำหรับองค์กรเจ้าของ ประการแรกเหมือนเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทขนาดใหญ่ ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของตัวบริษัทในระยะยาว ที่สำคัญมากคือการตั้งกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะมีกระบวนการหาผู้ที่เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจที่เป็นมืออาชีพมากขึ้น เหมือนกับการตั้งกรรมการบริษัทจดทะเบียน ต้องทำหน้าที่บริหารทรัพย์สินให้เกิดมูลค่าเพิ่มที่สุด และทำให้เกิดการประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ ส่วนรัฐวิสาหกิจคงเหลือหน้าที่เป็นแค่เพียงผู้ให้บริการ
ตัวอย่างขององค์กรเจ้าของที่เราคุ้นกันดี คือเทมาเสก (Temasek) ในสิงคโปร์ มาเลเซียมีคาซาน่า (Khazanah) จีนมีซาแซก (Sasac) แม้กระทั่งภูฏาน ก็ยังตั้งองค์กรเจ้าของ ทำหน้าที่ดูแลรัฐวิสาหกิจแล้ว
“ประเทศไทยมีความพยายามรอบนี้เป็นรอบที่ 3 ที่จะทำใน 2 รอบแรก ไม่ผ่านการเมือง เพราะอำนาจอย่างที่เคยเป็นอำนาจที่อยู่กับรัฐมนตรีต้นสังกัด จะถูกดึงออกมา แต่รอบนี้เป็นรอบที่ทำแล้วกว้างไกลและก้าวไกลกว่าใน 2 รอบแรก และมีลักษณะของการใช้รัฐวิสาหกิจในลักษณะรับผิดรับชอบมากขึ้น”
ทั้งนี้ โครงสร้างใหม่ที่จะเกิดขึ้น ข้างบนสุดคือคณะรัฐมนตรี ภายใต้จะมีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เรียกว่าเป็นซุปเปอร์ แอดไวซอรี่ บอร์ด หรือซุปเปอร์ บอร์ด ใต้ลงมาจะมีองค์กร นั่นคือ บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ซึ่งจะขนานคู่กับ สคร.ที่สังกัดกระทรวงการคลัง
“ซุปเปอร์บอร์ด”ชูนโยบายรัฐ ปลดกับดักพัฒนาเศรษฐกิจชาติ
ในรอบแรกเราจะโอนรัฐวิสาหกิจที่ผ่านการแปรสภาพมีทุนเรือนหุ้นแล้ว ตั้งเป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชน หรือจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทเหล่านี้ชัดเจนว่ามีวัตถุประสงค์ รูปแบบธุรกิจหลักเป็นเชิงพาณิชย์ ก็จะโอนเข้ามาอยู่ภายใต้บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ประมาณ 12 รัฐวิสาหกิจในตอนนี้
โดยรัฐวิสาหกิจที่เริ่มทำ 12 แห่ง เป็นบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท บางจาก-ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน), บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
ในส่วนนี้คิดในแง่ทุนคิดเป็น 1.2 ล้านล้านบาท ในแง่ทรัพย์สิน 3 ล้านล้านบาท ส่วนอนาคตมีความหวังว่าจะเดินต่อไปได้ดี กระแสสังคมอาจจะส่งเสริมให้มีการย้ายเข้ามาเพิ่มมากขึ้น
สำหรับโครงสร้างบรรษัทที่จัดตั้งขึ้นมา มีกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% กรรมการจะเป็นกรรมการอิสระทั้งหมด กรรมการเป็นมืออาชีพ มีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นอิสระในแง่ของงบประมาณ รายได้ที่รัฐวิสาหกิจนำส่ง 12 แห่ง บรรษัทก็มีสิทธิ์ที่จะหักบางส่วนไว้เป็นค่าบริหารจัดการ แต่จะไม่หักไว้สำหรับลงทุนอื่นๆ ที่เหลือก็จะนำส่งต่อเป็นรายได้แผ่นดิน เพราะว่าประเทศไทยรัฐบาลยังต้องพึ่งรายได้นำส่งจากรัฐวิสาหกิจ
รพี สุจริตกุล
กระบวนการทั้งหมดได้มีการร่าง พ.ร.บ.การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ พ.ศ.... ขึ้นมา ขณะที่คืบหน้าไป 90-95% เหลือเพียงการตรวจถ้อยคำก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)
“พ.ร.บ.ฉบับนี้พยายามสร้างระบบในการกำกับดูแลขึ้นมา ต้องเข้าใจก่อนว่ารัฐวิสาหกิจยังเป็นของรัฐอยู่ ถ้าเราจะตั้งองค์กรอิสระมาโดยที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับรัฐเลยคงเป็นไปไม่ได้ และรัฐวิสาหกิจยังต้องมีภารกิจที่จะต้องดำเนินนโยบายตามรัฐบาล แต่วิธีการในการดำเนินนโยบายต้องทำให้โปร่งใส ไม่ใช่งุบงิบทำ”
สำหรับ คนร. ซึ่งปัจจุบันเป็นระเบียบสำนักนายก ในครั้งนี้จะเขียนไว้ในตัวกฎหมายเลยว่าต้องมีคณะกรรมการชุดนี้อยู่ และต้องมีองค์ประกอบทางด้านการเมือง ข้าราชการประจำ และผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกรรมการบุคคลภายนอก ซึ่งจะต้องเป็นผู้แทนใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ เพราะจะเขียนบอกว่ารัฐวิสาหกิจจะต้องเสนอแผนไป 3 ปี 5 ปี เพื่อให้ คนร.เป็นผู้อนุมัติ แผนก็จะมาจากตัวรัฐวิสาหกิจเองก็ยังต้องคุยกับเจ้ากระทรวงอยู่ ว่าอยากทำอะไรและต้องประกาศแผนลงในราชกิจจาฯ
“ไม่ใช่รัฐมนตรีมาจะมาสั่งอย่างโน้นอย่างนี้ แผนที่จะทำต้องมองไปข้างหน้าระยะยาว ที่สำคัญเมื่อใดก็ตาม ถ้าแผนของรัฐบาลไปกระทบต่อเงินรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลต้องตั้งงบ ไม่ใช่ควักเงินไปใช้ก่อน เหมือนเอารัฐวิสาหกิจเป็นตัวประกัน เมื่อเกิดเอ็นพีแอลในอีก 3-4 ปีต่อมา แล้วรัฐบาลเปลี่ยนขึ้นมา ก็บอกว่าธนาคารจะเจ๊งเพราะหนี้เสียเยอะ จะทำอย่างไรก็ต้องเพิ่มทุนแล้ว ใครจะรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น”
เพราะฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้จะบอกว่าถ้าต้องนำเงินของรัฐวิสาหกิจมาใช้ ซึ่งทำให้รัฐวิสาหกิจก่อให้เกิดปัญหา รัฐบาลจะต้องตั้งงบประมาณเป็นโครงการ ซึ่งจะทำให้เกิดการตรวจสอบกันในรัฐสภาว่า โครงการนี้ทำแล้วจะทำให้เกิดการขาดทุนหรือไม่ ไม่ใช่บอกว่าให้ทำไปก่อนแล้วจะกำไรขาดทุนค่อยไปว่ากันในวันข้างหน้า อย่างนี้จะทำให้ไม่เกิดความโปร่งใส เพราะเป็นทรัพย์สินของประชาชนไม่ใช่ทรัพย์สินของการเมือง
ส่วนกรณีที่มีปัญหาเฉพาะหน้าและเหตุการณ์เร่งด่วน ก็ตั้งงบประมาณได้ แต่ก็พยายามจะเขียนทางออกให้ไว้ว่าในกรณีที่เกิดเหตุการณ์สำคัญจริงๆ เร่งด่วน เช่น น้ำท่วม ก็ให้ใช้ไปก่อนได้ แต่ต้องตั้งงบประมาณมาชดใช้ในปีถัดไป อย่างน้อยผลักทั้งหมดให้เข้าสู่กระบวนการของรัฐสภา ไม่ได้ห้ามทำแต่ต้องทำให้โปร่งใส
กุลิศ สมบัติศิริ
“สคร. ยังมีหน้าที่อยู่คือดูสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่เรียกว่าปฏิรูปรัฐวิสาหกิจคืออะไร ตัวแผนพัฒนาระบบรัฐวิสาหกิจ และรัฐวิสาหกิจต้องเสนอแผนกรอบการลงทุนว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ต้องมองตัวเองว่าเป็นอย่างไร ผ่านรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัด”
หน้าที่ของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ จะต้องทำแผนของรัฐวิสาหกิจ 12 แห่ง ประธานบรรษัทฯ เสนอเข้ามา ทาง คนร. ซึ่งมี สคร.เป็นเลขานุการ ก็ต้องรวบรวม และจัดทำแผนขึ้นมา 5 ปี เช่น สาขาพลังงานจะไปที่ไหน สาขาประปาจะเป็นอย่างไร โทรคมนาคมเป็นอย่างไร และก็จะมีแผนกลาง ที่เชื่อมโยงระหว่างกัน เช่น สาขา และสาขา พลังงานโทรคมนาคม ให้ใช้ไฟเบอร์ ออพติก ร่วมกันได้ไหม การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ลงทุนไม่ซ้ำซ้อน ทำอย่างไรที่จะใช้ทรัพยากรร่วมกัน
ขณะเดียวกันจะต้องควบคุมเรื่องที่รัฐวิสาหกิจไปแตกบริษัทลูก หรือการยุบเลิกต่างๆ จะต้องมีการควบคุมซึ่งเป็นนโยบายกลาง อีกเรื่องคือเอกชนร่วมทุน
นอกจากนี้ ที่สำคัญที่จะมีการเปลี่ยนแปลงคือ การประเมินผล เนื่องจากรัฐวิสาหกิจจะต้องทำแผนรับวิสาหกิจเป็นแผนระยะ 5 ปี เหมือนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จากนั้นจะต้องทำเป็นแผนปฏิบัติการรายปี
ซึ่ง สคร. ก็จะกำกับว่าสามารถดำเนินการไปตามแผนได้สำเร็จหรือไม่ และใช้ตรงนี้เป็นการประเมินผล ซึ่งจะแตกต่างจากการประเมินทุกวันนี้ ที่ไม่ได้สะท้อนภาพรวมองค์กร และประเมินเพื่อที่จะเอาโบนัสกันไม่ได้ ซึ่งตัวประเมินใหม่จะต้องสะท้อนถึงภาพรวมองค์กร 360 องศา ประเมินทั้งกรรมการและประเมินทั้งองค์กร
หากประเมินผลแล้วทำไม่ได้ตามตัวชี้วัด จะต้องรีบแก้ไขรวมถึงการเปิดเผยข้อมูลต่างๆทันที.
ทีมเศรษฐกิจ